การขับขี่รถยนต์เป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นในชีวิตประจำวันของหลาย ๆ คน ซึ่งการมีใบขับขี่เป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันความสามารถและความรู้ในกฎจราจรของผู้ขับขี่ อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจไม่ทราบว่าใบขับขี่นั้นมีหลายประเภท และแต่ละประเภทมีข้อกำหนดและสิทธิที่แตกต่างกันออกไป บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับประเภทต่าง ๆ ของใบขับขี่ พร้อมทั้งอธิบายความแตกต่างและข้อกำหนดที่สำคัญในการขอและใช้งานใบขับขี่แต่ละประเภท เพื่อให้คุณมีความเข้าใจและเตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง
ใบขับขี่รถยนต์มีกี่ชนิด
ใบขับขี่รถยนต์ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ หลัก ๆ แบ่งได้ 2 ชนิดใหญ่ ๆ ตามชนิดของรถและการใช้งานทั้งแบบบุคคล และแบบสาธารณะ(รับจ้าง) โดยมีเงื่อนไขในการขอรับเพื่อใช้งาน และข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป และไม่สามารถใช้แทนกันได้
ใบอนุญาตขับขี่รถประเภทส่วนบุคคล ใบขับขี่ที่แบ่งออกอีก 4 ชนิด มีตั้งแต่ บ.1-บ.4 คือ ใบอนุญาตขับขี่ประเภทส่วนบุคคล (บ.) หรือรถที่มีแผ่นป้ายทะเบียนรถพื้นสีขาว มีตัวเลขและตัวอักษรสีดำ สำหรับใช้ขับรถขนส่งส่วนบุคคล (ธุรกิจส่วนตัว) เพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเอง ไม่ใช่เพื่อการรับจ้าง และเป็นรถที่มีน้ำหนักเกินกว่า 1,600 กิโลกรัม
ใบขับขี่ บ.1 หรือใบอนุญาตขับขี่ประเภทส่วนบุคคล (บ.) ชนิดที่ 1 คือ ใบขับขี่รถส่วนบุคคลสำหรับใช้ขับรถตู้ หรือรถแท็กซี่ ที่มีน้ำหนักรวมไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม หรือขับรถขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 20 คน ใช้รถตามชนิดใบอนุญาตในการสอบปฎิบัติ มีอายุใช้งานใบขับขี่ประเภท บ.1 อยู่ที่ 3 ปี และอายุของผู้รับใบขับขี่ บ.1 ต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
ใบขับขี่ บ.2 หรือใบอนุญาตขับขี่ประเภทส่วนบุคคล (บ.) ชนิดที่ 2 คือ ใบขับขี่รถส่วนบุคคลสำหรับใช้ขับรถรถบรรทุก, รถสิบล้อ, รถหกล้อ, รถตู้ หรือรถอื่นๆ ที่มีน้ำหนักรวมเกิน 3,500 กิโลกรัม หรือใช้ขับรถขนส่งผู้โดยสารเกินกว่า 20 คน ใช้รถขนส่ง หรือรถ 6 ล้อ ขี้นไปในการสอบปฎิบัติ มีอายุใช้งานใบขับขี่ประเภท บ.2 อยู่ที่ 3 ปี และอายุของผู้รับใบขับขี่ บ.2 ต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
ใบขับขี่ บ.3 หรือใบอนุญาตขับขี่ประเภทส่วนบุคคล (บ.) ชนิดที่ 3 คือ ใบขับขี่รถส่วนบุคคลสำหรับใช้ขับรถสิบล้อพ่วง รถหัวลาก รถบรรทุกพ่วง หรือรถลากจูงรถอื่น ใช้รถลากจูง พร้อมรถพ่วง หรือรถกึ่งพ่วงในการสอบปฎิบัติ มีอายุใช้งานใบขับขี่ประเภท บ.3 อยู่ที่ 3 ปี และอายุของผู้รับใบขับขี่ บ.3 ต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
ใบขับขี่ บ.4 หรือใบอนุญาตขับขี่ประเภทส่วนบุคคล (บ.) ชนิดที่ 4 คือ ใบขับขี่รถส่วนบุคคลสำหรับใช้ขับรถขนส่งวัตถุอันตราย รถบรรทุกสารเคมี รถบรรทุกน้ำมัน หรือรถบรรทุกก๊าซ ใช้รถลากจูง พร้อมรถพ่วง หรือรถกึ่งพ่วงในการสอบปฎิบัติ มีอายุใช้งานใบขับขี่ประเภท บ.4 อยู่ที่ 3 ปี และอายุของผู้รับใบขับขี่ บ.4 ต้องมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป
ใบอนุญาตขับขี่รถทุกประเภท ใบขับขี่ที่แบ่งออกอีก 4 ชนิด มีตั้งแต่ ท.1-ท.4 คือ ใบอนุญาตขับขี่รถประเภททุกประเภท (ท.) ใช้ขับรถรับจ้างขนส่งสินค้าหรือบุคคล รถขนส่งสินค้าในธุรกิจขนส่ง หรือรถโดยสารสาธารณะที่มีแผ่นป้ายทะเบียนพื้นสีเหลือง เพื่อการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งด้วยรถขนาดเล็ก ใช้แทนได้ทั้งใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถประเภทส่วนบุคคล และใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
ใบขับขี่ ท.1 หรือใบอนุญาตขับขี่ประเภททุกประเภท (ท.) ชนิดที่ 1 คือ ใบขับขี่สำหรับใช้ขับรถบรรทุกขนส่งทั้งแบบประจำทาง ไม่ประจำทาง หรือขนส่งโดยรถขนาดเล็กที่มีน้ำหนักรถรวมกันไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม หรือรถขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 20 คน เช่น รถยนต์ป้ายเหลือง มีอายุใช้งานใบขับขี่ประเภท ท.1 อยู่ที่ 3 ปี และอายุของผู้รับใบอนุญาตขับขี่ ท.1 ต้องไม่ต่ำกว่า 22 ปี
ใบขับขี่ ท.2 หรือใบอนุญาตขับขี่ ประเภททุกประเภท ชนิดที่ 2 คือ ใบขับขี่สำหรับขับรถขนส่งโดยรถขนาดเล็กทั้งแบบประจำทาง และไม่ประจำทางสำหรับรถบรรทุกที่มีน้ำหนักรวมกันเกิน 3,500 กิโลกรัม หรือรถขนส่งผู้โดยสารเกินกว่า 20 คน เช่น รถบรรทุกป้ายเหลือง, รถสิบล้อ, รถหกล้อ, รถบัส, รถเมล์, รถตู้ หรือรถยนต์ มีอายุใช้งานใบขับขี่ประเภท ท.2 อยู่ที่ 3 ปี และอายุของผู้รับใบอนุญาตขับขี่ ท.1 ต้องไม่ต่ำกว่า 22 ปี
ใบขับขี่ ท.3 หรือใบอนุญาตขับขี่ ประเภททุกประเภท ชนิดที่ 3 คือ ใบขับขี่สำหรับขับรถลากจูงรถอื่นหรือลากล้อเลื่อนที่บรรทุกสิ่งของ เช่น รถบรรทุกพ่วงป้ายเหลือง, รถสิบล้อพ่วง หรือรถหัวลาก มีอายุใช้งานใบขับขี่ประเภท ท.3 อยู่ที่ 3 ปี และอายุของผู้รับใบอนุญาตขับขี่ ท.3 ต้องไม่ต่ำกว่า 22 ปี
ใบขับขี่ ท.4 หรือใบอนุญาตขับขี่ ประเภททุกประเภท ชนิดที่ 4 คือ ใบขับขี่สำหรับขับรถขนส่งโดยรถขนาดเล็กทั้งแบบประจำทาง และไม่ประจำทางที่ใช้ขนส่งวัตถุอันตรายตามประเภทหรือชนิด และลักษณะการบรรทุกที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เช่น รถที่ใช้ขนส่งวัตถุอันตรายทุกชนิด มีอายุใช้งานใบขับขี่ประเภท ท.3 อยู่ที่ 3 ปี และอายุของผู้รับใบอนุญาตขับขี่ ท.3 ต้องไม่ต่ำกว่า 25 ปี
การทำใบอนุญาตขับขี่รถ
เอกสารที่ต้องใช้ในการทำใบอนุญาตคือบัตรประชาชนตัวจริง และใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าผู้ขอไม่มีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ และไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ซึ่งมีอายุใช้ได้ตามที่แพทย์ผู้รับรองกำหนด แต่ต้องออกก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 1 เดือน โดยขั้นตอนในการทำใบอนุญาตมีดังนี้
จองคิวผ่านแอปพลิเคชั่น DLT Smart Queue หรือ Walk In แบบไม่ต้องจองคิว
วันที่ 1 ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย (ตาบอดสี สายตากว้าง-ลึก ความไวเท้า) อบรม 5 ชั่วโมง, ทดสอบข้อเขียนและจองคิวสอบขับรถ
วันที่ 2 ทดสอบขับรถ และทำใบอนุญาต ชำระค่าธรรมเนียมและค่าใบขับขี่รถยนต์ 305 บาท หรือ รถจักรยานยนต์ 205 บาท
การต่อใบอนุญาตขับขี่รถ
ให้เตรียมใบขับขี่เดิม บัตรประชาชนตัวจริง และใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าผู้ขอไม่มีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ และไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ซึ่งมีอายุใช้ได้ตามที่แพทย์ผู้รับรองกำหนด แต่ต้องออกก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 1 เดือน
กรณีต่อใบขับขี่จากชนิดชั่วคราว (2 ปี) เป็น 5 ปี มีการดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
จองคิวผ่านแอปพลิเคชั่น DLT Smart Queue หรือ Walk In แบบไม่ต้องจองคิว
ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ประกอบไปด้วยทดสอบการมองเห็นสี ทดสอบสายตาทางลึก ทดสอบสายตาทางกว้าง และทดสอบปฏิกิริยาเท้าในการเหยียบเบรกหลังเห็นไฟสัญญาณ
ถ่ายรูปพิมพ์ใบขับขี่
ชำระค่าธรรมเนียมและค่าใบขับขี่รถยนต์ 505 บาท หรือ รถจักรยานยนต์ 255 บาท
ผู้ขับขี่สามารถต่อใบขับขี่ล่วงหน้าได้ไม่เกิน 60 วัน หรือ 2 เดือน หากขาดต่ออายุใบขับขี่ กรณีสิ้นอายุเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี จะต้องสอบข้อเขียนใหม่ หากสิ้นอายุเกิน 3 ปี เพิ่มขั้นตอนการอบรม, ทดสอบข้อเขียน และทดสอบขับรถ
กรณีต่อใบขับขี่ชนิด 5 ปี เป็น 5 ปี มีการดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
อบรมใบอนุญาติขับรถผ่านระบบ e-Learning ที่เว็บไซต์ https://dlt-elearning.com
จองคิวผ่านแอปพลิเคชั่น DLT Smart Queue หรือ Walk In แบบไม่ต้องจองคิว
ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ประกอบไปด้วยทดสอบการมองเห็นสี ทดสอบสายตาทางลึก ทดสอบสายตาทางกว้าง และทดสอบปฏิกิริยาเท้าในการเหยียบเบรกหลังเห็นไฟสัญญาณ
ถ่ายรูปพิมพ์ใบขับขี่
ชำระค่าธรรมเนียมและค่าใบขับขี่รถยนต์ 505 บาท หรือ รถจักรยานยนต์ 255 บาท
ผู้ขับขี่สามารถต่อใบขับขี่ล่วงหน้าได้ไม่เกิน 90 วัน หรือ 3 เดือน หากขาดต่ออายุใบขับขี่ กรณีสิ้นอายุเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี จะต้องสอบข้อเขียนใหม่ หากสิ้นอายุเกิน 3 ปี เพิ่มขั้นตอนการทดสอบข้อเขียน, การสอบขับรถ และใบรับรองแพทย์ที่ขอไว้ไม่เกิน 1 เดือน
พบกับข่าวสารล่าสุดทาง LINE! มาเช็คข่าวสารและโปรโมชันดีๆ ใน LINE กัน
เพิ่มบัญชีทางการเป็นเพื่อน คลิกที่นี่!
อ้างอิงข้อมูล